Bangpakok Hospital

อาการมือเท้าชา สัญญาณเตือนบอกโรค

23 พ.ย. 2566


อาการชาเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบได้บ่อย คือ บริเวณมือและเท้า เช่น มือชา เท้าชา ชาปลายนิ้วมือ โดยลักษณะของอาการชาอาจเป็นได้ทั้งสูญเสียความรู้สึก รู้สึกแบบผิวหนังหนาๆ เป็นปื้นๆ หรือมีความรู้สึกที่แสดงออกมากกว่าปกติ เช่น ยิบๆ ซ่าๆ เหมือนเข็มทิ่ม ปวดแสบร้อน เสียวคล้ายไฟช็อต โดยลักษณะของอาการชาเหล่านี้ อาจเป็นอาการของโรคหรือเป็นสัญญาณแรกของโรค เช่น อาการชาจากการขาดวิตามิน จากโรคเบาหวาน อาการชาที่เกิดจากบางสาเหตุ หากทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการเสียหายของเส้นประสาทอย่างถาวร

สาเหตุของอาการชา

1. อาการชาที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลาง

     คือ สมองหรือไขสันหลัง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โดยตำแหน่งของอาการชามักเป็นด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย อาจมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อ่อนแรง ทรงตัวลำบาก โดยอาการมักเป็นฉับพลันทันที

2. อาการชาที่เกิดจากระบบเส้นประสาทส่วนปลาย
  • ภาวะรากประสาทถูกกดทับ จากกระดูกต้นคอเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกเคลื่อน
  • ภาวะการกดทับของเส้นประสาทในแขนขา โดยมักพบในตำแหน่งที่เส้นประสาทอยู่ตื้น และสัมพันธ์กับการนั่งหรือทำท่าเดิมนานๆ ทำท่าทางใดๆ ซ้ำๆ หรือมากเกินไป เช่น การนั่งไขว้ขา การใช้มือทำงานคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน ใช้มือและนิ้วเล่นโทรศัพท์นานๆ
  • การบาดเจ็บที่เส้นประสาทโดยตรง เช่น ได้รับอุบัติเหตุ ทั้งนี้ ขึ้นกับตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกรบกวนด้วย โดยมักจะมีอาการชาแบบสูญเสียความรู้สึกและอ่อนแรงร่วมด้วย
  • โรคทางพันธุกรรม ที่ทำให้เส้นประสาทหรือปลอกประสาทส่วนปลายเสื่อม เช่น Charcot Marie Tooth Syndrome
     โดยผู้ป่วยมักมีประวัติคนในครอบครัวมีอาการเกี่ยวกับปลายประสาท
  • ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ มักมีความเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปลายประสาทอักเสบจากโรคเบาหวานหรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้
  • การติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสงูสวัด ซิฟิลิส เฮชไอวี
  • โรคต่อมไร้ท่อ เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
  • โรคไตเสื่อมเรื้อรังหรือโรคตับ
  • การได้รับยาหรือสารบางอย่าง ที่ทำให้เส้นประสาทอักเสบ เช่น ยาฆ่าเชื้อได้แก่ Metronidazole, Ethambutol, Amiodarone, Colchicine เป็นต้น
3. อาการชาที่เกิดจากโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย
  • การอุดตันของหลอดเลือดแดง ทำให้การไหลเวียนเลือดแดงเพื่อนำเลือดดีมาเลี้ยงกล้ามเนื้อและเส้นประสาทส่วนปลายลดลง
  • การอุดตันของหลอดเลือดดำ ทำให้การนำกลับของเลือดและของเสียลำเลียงออกไม่ได้ มีความดันในแขน ขา สูงขึ้น
     และรบกวนการนำเข้าของเลือดแดงมาเลี้ยง ซึ่งส่งผลต่อเลือดที่มาเลี้ยงเส้นประสาทในที่สุด
4. โรคข้ออักเสบ

     อาการอักเสบของข้อ ส่งผลต่อเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียงกับข้อ ทำให้มีอาการชาร่วมด้วยได้

5. โรคกล้ามเนื้อ

     เช่น โรคออฟฟิศซินโดรม เนื่องจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทหรือการไหลเวียนเลือดไปยังเส้นประสาท อาจพบอาการชาร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าว

อาการชาแบบไหนที่ควรรีบมาพบแพทย์

อาการชาที่เกิดร่วมกับอาการปวด มักทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญหรือรบกวนชีวิตประจำวัน โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและบรรเทาอาการอันไม่พึงประสงค์ดังกล่าว แต่อาการชาที่มีลักษณะร่วมอื่นๆ ที่ควรรีบมาพบแพทย์
เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ ทำการรักษา และหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • อาการชาที่มีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย
  • อาการชาที่มีอาการผิดรูปหรือมีแผลร่วมด้วย
  • อาการชาร่วมกับมือเท้าร้อนหรือเย็นผิดปกติ
  • อาการชาที่มีลักษณะรับความรู้สึกของตำแหน่งไม่ได้ เสียการทรงตัว
  • อาการชาที่มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีอาการในตำแหน่งอื่นๆ เพิ่มขึ้น หรือตำแหน่งที่ต่อเนื่องกัน

อาการชาอาจเป็นสัญญาณบอกโรคที่ซ่อนอยู่ หากผู้ป่วยที่มีอาการชามาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ นอกจากจะรักษาอาการชาเพื่อลดการรบกวนของผู้ป่วยแล้ว แต่ยังสามารถนำไปสู่การค้นหาโรคที่เป็นสาเหตุร่วม รวมถึงให้การวินิจฉัยก่อนเกิดอาการหรือภาวะแทรกซ้อนของโรคนั้นๆ ได้

 

สอบถามข้อมูลหรือแพ็กเกจได้ที่แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ

โทร. 0 2109 1111 ต่อ  10145 , 10122

Go to top
Copyright © 2015 Bangpakok Hospital All rights reserved.