วัยทำงาน นั่งนาน เสี่ยงกระดูกสันหลังเสื่อม
โรคกระดูกสันหลังเสื่อม เป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับใครหลายคน โดยมีปัจจัยมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาการของโรคสามารถรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี
โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis)
โรคกระดูกสันหลังเสื่อม คือ ภาวะการเสื่อมของข้อกระดูกสันหลัง โดยข้อกระดูกสันหลังจะประกอบไปด้วย หมอนรองกระดูก (Intervertebral Disc) ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างตัวกระดูกสันหลังปล้องบนและล่าง ทำหน้าที่เป็นตัวรับน้ำหนัก และข้อต่อ Facet (Facet Joint) ซึ่งจะอยู่บริเวณด้านหลังของกระดูกสันหลัง โดยจะเป็นส่วนที่ใช้ในการขยับก้มเงย หมุน หรือ เอียงตัว โดยเมื่อภาพถ่ายรังสีพบข้อกระดูกสันหลังเสื่อม ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นข้อกระดูกสันหลังเสื่อม
การเสื่อมของหมอนรองกระดูก
การเสื่อมของหมอนรองกระดูกระยะแรก เกิดได้เร็วตั้งแต่อายุ 30 ปี โดยจะเริ่มจากการที่ส่วนประกอบที่เป็นน้ำในหมอนรองกระดูกลดลง ทำให้ความสามารถในการรับน้ำหนักของหมอนรองกระดูกเสียไป ต่อมาอาจเกิดการฉีดขาดของหมอนรองกระดูกด้านนอก และส่วนประกอบที่เป็นเจลที่อยู่ตรงกลางของหมอนรองกระดูกเกิดการเคลื่อนออกมาจากรอยฉีกขาด ทำให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท (Disc Herniation) ระยะถัดมาเมื่อหมอนรองกระดูกมีการเสื่อมมากขึ้นจะส่งผลให้เกิดหมอนรองกระดูกทรุดตัว
สาเหตุของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม
สาเหตุการเสื่อมของกระดูกสันหลังส่วนใหญ่ เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของข้อต่อ หรือ หมอนรองกระดูกสันหลัง ส่วนสาเหตุอื่นนอกเหนือจากอายุ ได้แก่ การใช้งานที่มากเกินไป เช่น ยกของหนัก หรือ มีการติดเชื้อ หรือ อุบัติเหตุ มาทำลายข้อต่อของกระดูกสันหลัง
- ผู้ป่วยกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม
มักจะมาด้วยอาการปวดต้นคอ ปวดสะบัก หรือปวดศีรษะ โดยถ้ามีการกดทับรากประสาท จะทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงแขน แขนชา แขนอ่อนแรงได้ แต่ที่อันตราย คือ ถ้าเกิดการกดทับที่ไขสันหลังอาจส่งผลให้เกิดอาการแขนขา อ่อนแรง เป็นอัมพาต
- ผู้ป่วยกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อม
มักจะมาด้วยอาการปวดหลังด้านล่าง ปวดเมื่อมีการใช้งานแต่พอได้พักอาการปวดจะดีขึ้น ถ้ามีการกดเบียดรากประสาท จะส่งผลให้มีอาการปวดร้าวลงขา ขาชา หรือขาอ่อนแรง ในกรณีที่การกดทับมากขึ้นจนโพรงไขสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis) จะส่งผลต่อการเดิน โดยจะทำให้ระยะทางที่เดินได้สั้นลง
กลุ่มช่วงวัยใดหรือกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมแบบไหนถึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกสันหลังเสื่อม
- ปัจจัยด้านอายุ
หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมสามารถพบได้ตั้งแต่อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ส่วนข้อกระดูกสันหลังเสื่อมมักจะพบหลังจากอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยความเสี่ยงในการเกิดโรคจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้
- ปัจจัยด้านพฤติกรรม
พฤติกรรมและการใช้งานเป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนได้ โดยพฤติกรรมที่ส่งผลทำให้ข้อกระดูกสันหลังเสื่อมเร็ว ได้แก่ การยกของหนัก การนั่งนาน งานที่มีการก้มเงยคอหรือหลังเป็นประจำ น้ำหนักตัวที่มาก การเล่นกีฬาที่มีการสะบัดคอหรือหลังเยอะ กีฬาที่มีการกระแทก การสูบบุหรี่ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเสื่อมของข้อกระดูกสันหลัง
แนวทางการรักษาโรคกระดูกสันหลังเสื่อม
- การปรับเปลี่ยนอิริยาบถประจำวัน เช่น หลีกเลี่ยงการก้มเงย การยกของหนัก หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่มีการกระแทก ลดน้ำหนัก และหยุดสูบบุหรี่
- การทำกายภาพบำบัด ได้แก่ ประคบร้อน การทำอัลตราซาวด์ (Ultrasound) การใช้ช็อกเวฟ (Shock Wave) การดึงคอ หรือ ดึงหลัง เพื่อลดอาการปวด รวมถึงการบริหารกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง
- ใช้ยาลดอาการปวดและยากลุ่มต้านการอักเสบ การใช้ยาช่วยเพื่อลดอาการปวดตั้งแต่ยาพาราเซตตามอล และยาในกลุ่มต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs) ซึ่งเป็นยาแก้ปวดและลดการอักเสบที่มีประสิทธิภาพที่ดี
- การผ่าตัด วิธีสุดท้ายที่แพทย์จะแนะนำให้ใช้ในการรักษา คือ การผ่าตัด โดยข้อบ่งชี้ของการผ่าตัด ได้แก่ อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้น มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนหรือขา มีความผิดปกติต่อระบบขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ
การป้องกันหรือหลีกเลี่ยงโรคกระดูกสันหลังเสื่อม
- การนั่งในท่าที่เหมาะสม นั่งในท่าที่ดี หลังตรง มีการพักเพื่อยืดเหยียดเป็นระยะ
- ไม่ทำกิจกรรมในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน
- ออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อบริเวณหลัง
- หลีกเลี่ยงบางพฤติกรรม เช่น การยกของหนัก ก้มๆ เงยๆ
- ระมัดระวังอุบัติเหตุ ที่มีการกระเทือนต่อกระดูกสันหลัง
สอบถามข้อมูลหรือแพ็กเกจได้ที่แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ
โทร. 0 2109 1111 ต่อ 10145